โรคผิวหนังจากเชื้อรา

โรคผิวหนังจากเชื้อรา เป็นโรคที่พบได้บ่อยในชุมชน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาปรึกษาเภสัชกรร้านยา ได้แก่ โรคกลาก เกลื้อน และแคนดิดา ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในบริเวณที่มีความอับชื้นของร่างกาย เช่น ข้อพับ ซอกนิ้วเท้า ซอกขาหนีบ ปากช่องคลอด เยื่อบุช่องปาก เป็นต้น

การติดเชื้อราที่ผิวหนังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ การติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดตื้น (Superficial Fungal Infection) เป็นการติดเชื้อราในชั้น Stratum Corneum ของหนังกำพร้า ได้แก่ เกลื้อน (Tenia Versicolor) และการติดเชื้อที่ชั้นผิวหนัง (Cutaneous Fungal Infection) เป็นการติดเชื้อที่ชั้น

เคราตินของผิวหนังของหนังกำพร้า รวมทั้งการติดเชื้อที่ผมและเล็บ ได้แก่ กลากที่ผิวหนัง (Dermatophytosis) กลากที่เล็บ (Onychomycosis) และแคนดิดา (Candidiasis) โดยมีรายละเอียด คือ

  1. โรคเกลื้อน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเขตร้อน เกิดจากเชื้อรากลุ่มยีสต์ Malassezia spp. ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นที่อาศัยอยู่บนหนังกำพร้า โดยเฉพาะบริเวณต่อมไขมัน
  2. โรคกลาก เป็นโรคติดเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes 3 ชนิด ชนิดแรกคือ Trichophyton spp.(โดยเฉพาะ T. rubrum) ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนัง ผม และเล็บ ชนิดที่สอง คือ Microsporum spp. ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนังและผม และชนิดที่ 3 คือ Epidermophyton spp. ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนังและเล็บ
  3. โรคเชื้อราที่เล็บ พบได้ร้อยละ 50 ของความผิดปกติที่เล็บ มักพบที่เล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อกลาก ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อราอื่น และ Candida
  4. โรคติดเชื้อแคนดิดา เป็นผื่นที่ผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ ที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่มแคนดิดา ส่วนใหญ่มักเกิดจาก Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อราประจำถิ่นในเยื่อบุช่องปาก ทางเดินอาหาร และช่องคลอด

การวินิจฉัย

โดยทั่วไปอาศัยลักษณะทางคลินิก และบางครั้งอาจใช้ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ลักษณะทางคลินิก เป็นการตรวจดูด้วยตาเปล่า (Visual Examination) โดยดูลักษณะและการจัดเรียงของรอยโรค

  1. เกลื้อน ส่วนมากเป็นผื่นราบ ขนาดเล็ก (Macule) กระจายหรือรวมกันเป็นแผ่น (Patch) มีขอบชัด มีขุยละเอียด พบได้หลายสี เช่น ขาว ชมพู หรือน้ำตาล พบบ่อยที่บริเวณใบหน้า หน้าอก ลำตัว ต้นแขน ซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสกับแสงแดด ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการคัน หรือคันเพียงเล็กน้อย
  2. กลาก ลักษณะและชื่อโรคจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิดโรค
  • กลากที่หนังศีรษะ (Tinea Capitis) เป็นการติดเชื้อราที่หนังศีรษะและเส้นผม มักมีอาการเส้นผมหักสั้น แหว่ง หรือร่วงเป็นหย่อม ๆ อาจพบขุยหรือสะเก็ดสีขาวหรือสีแดงรอบเส้นผมและหนังศีรษะ ลักษณะเป็นผื่นราบขนาดใหญ่ (Patch) หากมีการอักเสบจะเริ่มจากรูขุมขนอักเสบ เป็นตุ่มหนองที่โคนผมและขยายขนาดขึ้น หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำจะมีการอักเสบรุนแรงกลายเป็นชันนะตุ (Kerion) เมื่อรักษาหายและจะเกิดรอยแผลเป็นและสูญเสียผมบริเวณนั้นอย่างถาวร
  • กลากที่ลำตัว (Tinea Corporis / Ringworm) หรือกลากหนุมาน (Classic Ring Worm) เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง มักมีอาการคัน มักพบรอยโรคคล้ายวงแหวนมีขอบชัดเจน (Annular Lesion With Active Border) เป็นวงนูนแดงที่มีขอบชัด ตรงกลางมีลักษณะเหมือนผิวหนังปกติ หรือเป็นผื่นนูนแดงมีขุยหรือสะเก็ดหนาปกคลุม (Papulosquamous Lesion)
  • กลากที่เท้า (Tinea Pedis) เรียกอีกอย่างว่า Athlete’s Foot มักเป็นการติดเชื้อราและแบคทีเรียร่วมกัน มีลักษณะเป็นขุยเปื่อยยุ่ยสีขาวบริเวรตามซอกนิ้วเท้า และมีอาการคันมาก บางรายอาจเป็นตุ่มน้ำใสหรือขุยลอกเรื้อรังที่ฝ่าเท้า
  • กลากที่มือ (Tinea Manuum) มักพบเป็นผื่นมีขุยแห้งสีขาวร่วมกับผิวหนังหนาขึ้น มักเป็นบนฝ่ามือข้างเดียวที่บริเวณ Palmar Creases หรือกระจายทั่วไปบนฝ่ามือเป็นวงขนาดเล็ก ผื่นไม่ค่อยแดง อาจพบร่วมกับกลากที่เท้าและกลากที่เล็บ
  • กลากที่ขาหนีบ (Tinea Cruris) หรือสังคัง (Jock Itch) มักพบบริเวณรอยโรคบริเวณหัวหน่าวหรือต้นขาทั้งสองข้าง มีลักษณะเป็นปื้นนูนแดง มีขอบชัดเจน อาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และอาจพบขุยในผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการคันมากเมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังหนาขึ้นได้ และผิวหนังจะเปื่อยแฉะ
  • กลากที่เล็บ (Onychomycosis) มีขุยและการหนาตัวของพื้นเล็บจนแผ่นเล็บแยกจากพื้นเล็บ (Onycholysis) ใต้เล็บมีการเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือสีเข้มขึ้น ผิวเล็บไม่เรียบ เกิดการผุทำให้เสียรูป เล็บบางลง และฝ่อไปในบางราย หรือเป็นปื้นขาว ขอบเขตชัดเจนบนผิวเล็บ
  • กลากที่หน้า (Tinea Faciei) เป็นกลากที่มีอาการอักเสบแดง มากกว่าบริเวณอื่น หากเป็นกลากที่เครา (Tinea Barbae) จะพบมีตุ่มหนองหรือตุ่มน้ำได้ และมักมีสะเก็ดเนื่องจากมีการอักเสบของรูขุมขน
  1. แคนดิดา ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น
  • การติดเชื้อในปาก ที่พบบ่อย มี 3 แบบ
  1. เป็นฝ้าขาวคล้ายคราบน้ำนมบนเยื่อบุช่องปาก (Oral Thrust) ถ้าขูดออกจะเห็นผิวสีแดงอาจมีเลือดออก 
  2. เป็นผื่นแดง เป็นแผลตื้น ๆ ผิวเลี่ยน บริเวณลิ้น เพดานปาก โดยเฉพาะใต่ฟันปลอม มีกมีอาการเจ็บ
  3. มุมปากอักเสบ (Angular Cheilitis) เป็นผื่นแดง เปื่อยเจ็บที่มุมปากทั้งสองข้าง
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง ผิวหนังจะมีลักษณะบวมแดง มีตุ่มหนองหรือตุ่มแดงกระจาย ร่วมกับมีขุยรอบ ๆ ตุ่มแดง ตุ่มแดงจะกระจายอยู่ที่บริเวณขอบผื่น จะพบในบริเวณผิวหนังที่เป็นซอกพับและมีความชื้น เช่น ซอกคอ ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ก้น อวัยวะเพศ โดยเฉพาะในคนอ้วน คนที่มือและเท้าสัมผัสน้ำบ่อย ๆ อาจพบผื่นที่ซอกนิ้วได้ ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บ แสบร้อน หรือคันบริเวณรอยโรค นอกจากนี้ยังอาจพบบริเวณข้างเล็บหรือเล็บขบ (Candida Paronychia) มีอาการบวมแดงรอบเล็บ เจ็บ บางครั้งพบหนอง บริเวณรอบเล็บแยกออกจากแผ่นเล็บ และอาจมีความผิดปกติของเล็บ เช่น ผิวเล็บเป็นคลื่น เล็บเปลี่ยนสี หรือมีเล็บกร่อน (Nail Dystrophy) ได้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  1. การส่องดูผื่นด้วย Wood’s Lamp โดยใช้ UV Light เพื่อดูการเรืองแสงของเชื้อรา กรณีเกลื้อน พบลักษณะเรืองแสงเป็นสีทอง (Golden-yellow Fluorescence) ส่วนกลากจะพบลักษณะเรืองแสงเป็นสีเขียวเหลือง ( Yellowish Green Fluorescence)
  2. การส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Direct Microscopy) โดยเก็บสิ่งส่งตรวจจากการขูดผิว (Skin Scraping) ของเหลวจากตุ่มหนอง หรือเล็บที่ตัดออก แล้วทำ Potassium hydroxide (KOH) Test Or Preparation โดยหยด 10 – 20% KOH ลงบนสิ่งส่งตรวจ หรือทำ Periodic Acid Schiff (PAS) Stain แล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • เกลื้อน ขูดขุยไปตรวจ KOH Preparation หรือใช้เทปกาวใสปิดลอกขุย (Scotch tape Method) แปะบนสไลด์แก้วที่หยดน้ำยา Methylene Blue แล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบยีสต์รูปกลมหรือรูปไข่ที่มีการแตกหน่อ และมีเส้นใยราเป็นท่อนสั้น ๆ ดูคล้ายเส้นสปาเก็ตตี้กับลูกชิ้น (Spaghetti And Meat Balls)
  • กลาก ขูดขุยหรือสะเก็ดจากผื่น หรือถอนเส้นผมไปตรวจ KOH Preparation แล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบราลักษณะเป็นเส้นใยแตกแขนง และมีผนังกัน (Branching Septate Hyphae) บางครั้งอาจพบสปอร์ของรา
  • แคนดิดา ขูดแผ่นสีขาวในช่องปากหรือขูดขุยบริเวณขอบผื่นหรือตุ่มหนองออกไปตรวจ KOH Preparation แล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบลักษณะยีสต์รูปรีมีหน่อแตกออก (Oval Budding Yeast) และพบเส้นใยเทียม (Pseudohypae)
  1. การเพราะเลี้ยงเชื้อหรือการส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยส่วนมากมักไม่จำเป็นต้องทำ อาจทำในรายที่มีปัญหาทางการวินิจฉัยและเพื่อติดตามผลการรักษา การเพาะเชื้อจะใช้อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดไม่จำเพาะ เช่น Sabouraud’s Dextrose Agar (SDA) หรือชนิดจำเพาะ เช่น SDA ที่เติม Chloramphenicol และ Cycloheximide ไปยับยั้งการเจริญของ Saprophytic Fungi และ Bacteria

การรักษา

ยารักษาเชื้อราที่ผิวหนังสามารถแบ่งออกเป็นได้ 2 ประเภท ได้แก่

  1. ยาทาภายนอกและยาใช้เฉพาะที่
  2. ยาชนิดรับประทาน

โดยแต่ละประเภทมีให้เลือกใช้แตกต่างกันสำหรับเชื้อราที่ผิวหนังแต่ละชนิด

  • ยาทาภายนอกและยาใช้เฉพาะที่ จะเป็นยาหลักในการรักษาการติดเชื้อเกลื้อน กลากที่ผิวหนัง การติดเชื้อยีสต์ และการติดเชื้อราสายที่ไม่ใช่กลาก (Non-Dermataphytosis Mold) ได้แก่ Tinea nigra และเป็นยาเสริมในการรักษาเชื้อรา ณ ตำแหน่งที่ไม่มีผมหรือขน เช่น Tinea capitis และ Tinea barbae
  • ยาชนิดรับประทาน จะเป็นยาหลักในการรักษาการติดกลากที่หนังศีรษะ เส้นผม หรือเล็บ เนื่องจากยาที่ใช้รับประทานจะไม่ให้ผลการรักษาที่ดี หรือใช้กับกลากที่ผิวหนังในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาทาภายนอก หรือหากต้องใช้ยาทาภายนอกหรือยาใช้เฉพาะที่ต้องใช้ในปริมาณมาก/บริเวณกว้าง มีหลายตำแหน่ง หรือลามมายังตำแหน่งที่ไม่สะดวกที่จะทายา หรือใช้รักษาการติดเชื้อราในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อย